วันพุธที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2556

รัฐธรรมนูญกับสังคมการเมืองไทย


รัฐธรรมนูญ กับ การเมืองในอนาคตและอนาคตทาง การเมือง ของ” ประชาชน
เกือบครบ 1 ทศวรรษของประชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากการต่อสู้ ของขบวนการประชาชน ซึ่งเริ่มตั้งแต่ความตื่นตัวของประชาชน หลังเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ2535 มาจนถึงการ อดอาหารของ ร.ต.อ.ฉลาด วรฉัตร เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไข รัฐธรรมนูญ ม.211เพื่อปฏิรูปการเมืองอย่างสันติ จนมาสู่กระบวนการร่าง ตั้งแต่คัดเลือกคณะกรรมการคัดสรร สมาชิกสภาร่างฝ่ายต่างๆ จึงเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด
เกิดกลไกการเข้ามาสู่สมาชิกสภาร่างที่ซับซ้อน หลายขั้นหลายตอนมากที่สุด จึงทำให้ประชาชนชาวไทยค่อนข้างได้มีส่วนร่วม ทำให้เกิดความเชื่อมั่นศรัทธา ในระบอบประชาธิปไตยและคาดหวังพัฒนาการของประชาธิปไตยในประเทศไทย ที่จะเติบโตและเป็นระบอบการปกครองที่ตอบสนองความต้องการประชาชนมากที่สุดด้วย




 แต่ถึงกระนั้น เกือบ 1 ทศวรรษ ที่ผ่านมา แม้ว่าอานิสงส์ของกลไกรัฐธรรมนูญจะเปิดโอกาส กระตุ้น และแก้ไขปัญหาทางการเมืองบางปัญหาให้หายไปได้ แต่หลายปัญหาก็ยังอยู่ และที่สำคัญ กลับมามีปัญหาใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มกดทับและปิดกั้นสิทธิประชาชนยิ่งขึ้น
 
แน่นอนว่า ในโลกนี้ไม่มีระบบการปกครองใดที่สมบูรณ์แบบ ใช้ได้ตลอดไป ตอบสนองความต้องการได้ครบ แต่เนื่องจากโลกหมุนเร็ว หลายสิ่งหลายอย่างก็เปลี่ยนแปลงไป เงื่อนไขเดิมๆ หายไป กลไกความสัมพันธ์ของอำนาจใหม่ๆ พลังการเมืองและปัจจัยเกี่ยวข้องอื่นๆ ก็เปลี่ยนไปด้วย ทำให้ผู้รู้ รวมกระทั่งปัญญาชน คนที่สนใจเหตุการณ์บ้านเมืองต้อง เฝ้ามองระวังและวิพากษ์วิจารณ์ กระบวนการก้าวไปข้างหน้าของสังคม การเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรม เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ยุติธรรมเท่าเทียม มีอิสระในเจตจำนงและประชาชนมีสิทธิเสรีภาพได้อย่างแท้จริง
หัวใจสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน คือให้ เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม มีอำนาจตรวจสอบอำนาจรัฐ ได้รับการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ มีกลไกอิสระหลากหลายตรวจสอบอำนาจรัฐ นอกจากนั้น ยังปิดกั้นปัญหาการเมืองแบบเก่าๆ ตลอดจนความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองของฝ่ายบริหาร
กระนั้น ทิศทางที่ใฝ่ฝันถึงการเมืองการปลดปล่อย และสร้างสังคมที่เป็นธรรมของประชาชนนั้น เชื่อว่ามาถูกทิศทาง แต่ยังไปไม่ถึงฝั่ง และถ้ายิ่งรีรอ ชักช้าก็อาจจะยิ่งกัดกร่อนให้กลไกและความศรัทธาทางการเมือง เสื่อมลงได้ เนื่องจากภาพที่ปรากฏในปัจจุบันคือ อำนาจทุน อำนาจการเมือง อำนาจรัฐ และอำนาจพรรค กำลังกลายเป็นเนื้อเดียวกัน และที่สำคัญกำลังไหลมารวมศูนย์ในมือคนๆ เดียวมากขึ้น
ในขณะที่กลไกอิสระที่ตั้งขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญ เพื่อถ่วงดุล ยับยั้ง และกลั่นกรองการใช้อำนาจ ที่อาจจะส่งผลต่อความเป็นธรรมกับประชาชน ได้กลายเป็น เสือกระดาษ” ไปแล้ว ไม่มีเขี้ยวเล็บ ไม่มีสติปัญญาเพียงพอ ไม่ได้มีเครื่องมือเทคโนโลยี ไม่มีอำนาจ และ (เริ่ม) ไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชน ที่สำคัญกลไกการเมืองแบบตัวแทนที่เล่นเกมส์ อยู่นั้น ไม่เคารพต่อเจตจำนงประชาชนแล้ว
การกลับมาทบทวนรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปรัชญาบางข้อ กระบวนการร่างแบบใหม่ๆ ตลอดจนเจตจำนงและเนื้อหาในรัฐธรรมและขนาดหรือ รูปแบบการเมือง อำนาจ กลไกการทำงานและกลไกองค์กรอิสระ ซึ่งล้วนชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันเกิดปัญหา อุปสรรค ข้อเท็จจริงและแนวทางที่ควรจะต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้การเมือง เป็นเรื่องของประชาชนมากขึ้น
          ดังนั้น บทสรุปจากการเฝ้ามองปัญหาและทิศทางการเมืองไทยตลอดระยะเวลาเกือบ 1 ทศวรรษ หลังการใช้รัฐธรรมนูญประชาชนคือ

1.ปัญหาความเดือดร้อนประชาชน ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกละเลย ถูกละเมิดสิทธิ เสรีภาพ และถูกจำกัดบทบาทการเล่นการเมืองในพื้นที่ต่างๆ ให้เหลือแค่บนพื้นที่การเลือกตั้งเท่านั้น ส่วนการมีส่วนร่วมอื่นๆ มีแนวโน้มอัตราให้ถูกจำกัดขอบเขตให้คับแคบลงไปเรื่อยๆ
2.ขบวนการประชาชน ถูกถอนราก ถูกโค่นลง ถูกบ่อนให้อ่อนแรงในการต่อรอง หรือเคลื่อนไหว สุดท้ายก็อาจถูกทำลาย หรือถูกปิดกั้นขัดขวางและแทรกแซงจนหมดสิ้น ทำให้การเมืองไทยภายใต้รัฐธรรม เป็นเพียงการเมืองของตัวแทนที่เล่นอยู่ในพื้นที่สถาบัน ซึ่งเป็นผู้แทน (รวมทั้งองค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญ) ที่ไปทำหน้าที่เพียง เสือกระดาษ” และ เสือโหย” และ เสือถอดเขี้ยว” ติดกับดักระเบียบการของพรรคจนไม่สามารถ ปลดล็อค” ตนเองได้
3.พรรคการเมืองที่มีเงินทุน มีขนาดใหญ่ ได้พยายามรวบรวมพรรคการเมืองต่างๆ ให้เข้ามารวมอยู่ในพรรคเดียวกัน เพื่อเพิ่มปริมาณสมาชิก และเพื่อสร้างพลังทางการเมือง ทำให้ปริมณฑลความเป็นการเมืองแบบประชาธิปไตยลดแคบลง เหลือเพียงกิจกรรมที่โลดเล่นเพียงพรรคการเมืองใหญ่ๆ หนึ่ง หรือสองพรรค จึงทำให้อำนาจหลังการ การฮุบพรรค” โดยเงินทุนและกลยุทธ์การบริหารจัดการที่ดีนั้นเกิดปรากฏการณ์
3.1 รัฐบาล / หรือ พรรคข้างมาก คุมสมาชิกส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎรได้อย่างเด็ดขาด มีผลให้รัฐบาลสามารถออกกฎหมายมาปรับเปลี่ยน โครงสร้างอำนาจ และ / หรือ กลไกของกฎหมาย เพื่อรองรับผลประโยชน์ของพวกพ้องตนได้ เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ถูกหลอมรวมเป็นอำนาจเดียวกันกับฝ่ายบริหาร ไม่สามารถตรวจสอบ ไม่สามารถฉีกมติพรรค ที่สำคัญไม่สามารถสืบทอดปรัชญาการทำหน้าที่ เป็นเสียงผู้แทน” ประชาชนนั้นได้ ประชาธิปไตยและการตรวจสอบไม่ได้เกิดขึ้นจริง ข้อสังเกต หลังการอภิปรายของพรรคฝ่ายค้าน กรณี CTX 9000
3.2 เบื้องลึกเบื้องหลัง คือ ความมีอำนาจมากของพรรค และความไม่มีกลไกอำนาจที่ถ่วงดุลได้ในพรรค ซึ่งพรรคสามารถกำหนด หรือมีมาตรการบังคับให้สมาชิกภาพปฏิบัติตามมติ หรือให้พ้นจากสมาชิกภาพ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ด้วย อีกทั้งบังคับให้ สมาชิกสภาผู้แทนต้องสังกัดพรรค ทั้งๆ ความจริง ในหลักการสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริง หลักปรัชญาการเรียนรู้ ควบคุมอำนาจทุกๆ อำนาจ คือต้องถูกตรวจ อบ ทัดทาน ถ่วงดุลได้
4. ความผิดพลาดในการออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งถึงที่สุด เป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับปฏิรูปเทียม” (สมยศ เชื้อไทย มติชนรายวัน 8 ก.ค.2548 หน้า 7) เพราะผลการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ตามกระบวนการ ตามกลไกที่ร่างขึ้น กลับมิได้ทำให้เกิดการปฏิรูปได้อย่างแท้จริง ซ้ำร้ายกลับทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าเป็น รัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุด มีสถานภาพของความหมายรัฐธรรมนูญสูงส่ง ซึ่งความเชื่อมั่นนี้เอง ทำให้ประชาชนสนใจตั้งคำถามน้อยลง การคิดเห็นถึงการแก้ไขเปลี่ยนแปลง จึงทำได้ยาก
5. ระบบรัฐสภาไม่มีกลไกที่เปิดช่องให้เกิดการถ่วงดุลระหว่าง รัฐบาล กับ สภาผู้แทนราษฎร กับ สมาชิกรัฐสภา กับ องค์กรอิสระ และกับองค์กรประชาชน จึงนำไปสู่การบิดเบือนการใช้อำนาจรัฐ โดยนักธุรกิจ หรือ โดยกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง ที่สามารถก่อตั้งพรรคการเมือง และ / หรือควบคุมพรรคการเมืองได้

อีกทั้ง หลักการเปิดโอกาสให้นักธุรกิจเข้ามาได้ในโครงสร้างอำนาจ ของระบบพรรคการเมืองโดยง่าย และควบคุมอำนาจของพรรคได้มาก ที่สำคัญทำให้เกิดวัฒนธรรมการให้ทุน และการถอนทุน เกิดความสูญเสียทรัพยากรของส่วนรวม อย่างไม่สามารถคาดการณ์ ปริมาณ ตลอดจนถึงการสิ้นสุดได้ ซึ่งพัฒนาการทางการเมืองทั้งหมด กำลังกลายเป็นการเมืองเพื่อการแบ่งปันผลประโยชน์ในระดับนโยบายเท่านั้น

ดังนั้น ข้อเสนอพร้อมแนวทางแก้ไข เพื่อให้ขบวนการประชาธิปไตย อันมีการเมืองเป็นกลไกชี้นำ สามารถก้าวเดินไปได้อีกก้าว ก็ต้องสร้างกระแสและกระบวนการทบทวน เงื่อนไข ข้อจำกัด และช่องทางใหม่ๆ ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อ
 1.    ต้องปรับปรุงระบบรัฐสภา ระบบการเมือง ระบบอำนาจ (ที่ถูกสร้างขึ้น ถูกนำไปใช้ ถูกตรวจสอบได้ หลากหลายวิธีการ) ให้มีระบบที่มีกลไกอิสระทางการเมืองมากระบบ หลากหลายที่มา เพื่อให้สามารถถ่วงดุลได้ ติดตามตรวจสอบได้ และเอาจริงเอาจังกับ ผู้กระทำการแทรกแซงอำนาจและเจตนารมณ์ประชาชนและหลักการประชาธิปไตย พร้อมทั้งเพิ่มมิติกลไก ภาคประชาชน กระตุ้นให้เกิดและคุ้มครองกลไกฝ่ายค้าน กลไกในรัฐสภา (ส.ส. ส.ว.) และกลไกตรวจสอบอื่นๆ
 2. สร้างพื้นที่สาธารณะให้เป็นพื้นที่เคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมืองในปริมณฑลต่างๆ คุ้มครองความอิสระเสรีภาพ และสนับสนุนกิจกรรมประชาชนในพื้นที่สาธารณะ ทางการเมือง เพื่อก่อให้เกิดวัฒนธรรมการประชาพิจารณ์ ประชามติ ตลอดจนการวิพากษ์วิจารณ์ และการยอมให้ประชาชนเข้ามาดูแล ควบคุมกลไกอิสระที่ตั้งขึ้นมาจากรัฐธรรมนูญด้วย

           ทิศทางการเมืองไทย ระดับหนึ่งเชื่อมั่นร่วมกันว่า ก้าวไปใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น หากเทียบเคียงประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านๆ มา ก็กระนั้น ก็ไม่ได้หมายถึงว่า ได้บรรลุถึงเจตจำนงประชาชนแล้ว กลับกันยังต้องเผชิญบรรยากาศที่อึดอัดขัดเคืองคับข้อง ในกระบวนการบริหาร กระบวนการแก้ไขปัญหาและกระบวนการมีส่วนร่วมตัดสินใจระดับนโยบาย หรือ กำหนดอนาคตของตนเอง ขอร่วมสนับสนุนให้เกิดกระบวนการปฏิรูปกรอบคิด กลไกและเนื้อหากฎหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เจตนารมณ์ของประชาชนเป็นจริงมากขึ้น